อันตรายจากยาย้อมผม

ผลิตภัณฑ์ย้อมผมที่มีขายทั่วไปในท้องตลาด แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม

1. ยาย้อมผมชนิดชั่วคราว มีส่วนประกอบของสีที่รับรองแล้ว มีขนาดโมเลกุลใหญ่ สีนี้เคลือบบนชั้นนอกของเส้นผม มักจะล้างออกหลังจากสระผมด้วยแชมพูครั้งแรก หรือครั้งที่ 2 ผลิตภัณฑ์ทางการค้า ได้แก่

คัลเลอร์ รินส์ (Color rinse) มีหลักการใช้โดยสระผม แล้วซับน้ำให้แห้ง ทาคัลเลอร์รินส์ลงบนเส้นผม อาจเริ่มจากผมบริเวณท้ายทอย หวี หรือแปรงให้ทั่ว ไม่ต้องล้างออกหรืออาจทิ้งไว้ประมาณ 2 – 5 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำอุ่น ซึ่งทั้งนี้ต้องปฏิบัติตามวิธีใช้ของแต่ละตำรับ

ดินสอทาสีผม (Hair Crayons) ใช้สำหรับปกปิดเส้นผมที่เริ่มหงอก หรือ ตกแต่งผมที่งอกออกมาใหม่ หลังการย้อม วิธีการใช้ทำโดยให้ปลายของแท่งดินสอนี้เปียกน้ำแล้วทาตลอดบนเส้นผมหงอกเริ่ม ตั้งแต่หนังศีรษะ เนื่องจากดินสอทาสีผมประกอบด้วยไขมัน ดังนั้นการย้อมผมครั้งต่อไปต้องแน่ใจว่าล้างเอาไขมันออกจากเส้นผมหมดสิ้น

สีพ่นสำหรับผม (Color Sprays) มักบรรจุในกระป๋องฉีดพ่น มีสีเงิน สีทอง และสีอื่นๆ ไว้สำหรับใช้ในกรณีพิเศษ

2. ยาย้อมผมชนิดกึ่งถาวร มีส่วนประกอบเป็นสี ซึ่งมีขนาดโมเลกุลเล็กสามารถซึมเข้าไปถึงชั้นกลางเส้นผมได้ สีจะคงทนได้นาน 3 – 5 อาทิตย์ ขณะนี้กำลังเริ่มจะเป็นที่นิยมได้แก่ แชมพูย้อมสีผม โลชั่น และโฟมย้อมสีผม

3. ยาย้อมผมชนิดถาวรติดทนบนเส้นผมอย่างถาวร ทนทานต่อการสระด้วยแชมพู การแปรงและอื่นๆ

3.1 ยาเคลือบสีผม (Coating Tints) สีจะสะสมบนชั้นนอกของเส้นผมเท่านั้น แบ่งออกเป็น

3.1.1 สมุนไพรย้อมผม (Vegetable Dyes) สีจะเคลือบติดบนเส้นผมคงทน โดยมีผลต่อชั้นนอกสุดของเส้นผม แต่ไม่เปลี่ยนโครงสร้างของเส้นผม ได้แก่ ยาย้อมผมที่มีส่วนผสมของใบจากต้นเฮนนาให้สีทอง และสีแดง

3.1.2 เกลือโลหะย้อมผม (Metallic Dyes) ได้แก่ ยาเคลือบผมที่ส่วนประกอบของตะกั่วอะซีเตต เชื่อว่าเกิดปฏิกิริยาระหว่างตะกั่ว อะซีเตตและซัลเฟอร์ในเคราตินทำให้เกิดตะกั่วซัลไฟด์เคลือบติดบนเส้นผม ต้องทาซ้ำ เพื่อให้ได้สีตามต้องการ

3.1.3 สีผสม (Compounds dyes) เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสมุนไพรย้อมผม และเกลือโลหะย้อมผม

3.2 ยาย้อมผมชนิดซึมเข้าในเส้นผม ประกอบด้วยน้ำยา 2 ขวด

ขวดที่ 1 อาจเป็นของเหลวหรือครีม มีสารออกฤทธิ์สำคัญ คือ สีออกซิเดชั่น หรือที่เรียกว่าสีพารา อยู่ในสภาวะด่าง ซึ่งโดยมากใช้แอมโมเนียความเป็นกรด – ด่าง ประมาณ 8-11 ด่างจะช่วยในส่วนชั้นนอกของเส้นผมบวม และพองขึ้นมาก ทำให้สีซึมเข้าไปอยู่ในเส้นผม แต่หากเป็นด่างมากจะเป็นอันตรายต่อเส้นผม เพราะด่างสามารถละลายส่วนชั้นนอกของเส้นผมบางส่วน ทำให้เส้นผมแลดูหยาบกระด้าง นอกจากนี้ยังมีส่วนผสมของสารลดแรงตึงผึว เพื่อช่วยสีย้อมผมซึมเข้าไปในเส้นผมได้ดี และอาจประกอบด้วยสารที่ทำให้ข้นเพื่อป้องกันสีย้อมผมไหลออกจากเส้นผม เป็นต้น

สีออกซิเดชั่น ที่นิยมใช้ในยาย้อมผมในตลาดเมืองไทย คือ พาราฟีนีรีนไดอะมีนและพาราโทลูอีนไดอะมีน

ขวดที่ 2 เรียกกันทั่วไปว่า น้ำยาโกรก นิยมใช้ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 6% ซึ่งผลิตเป็นสองแบบ คือ ชนิดของเหลวใส และชนิดที่เป็นครีม โดยการเติมสารที่ช่วยให้ข้น สารช่วยปรับสภาวะเส้นผมและกรด เป็นต้น ในส่วนของการย้อมผม ต้องผสมน้ำยาขวดที่ 1 และขวดที่ 2 ทันทีก่อนใช้ย้อมผม เมื่อผสมกันไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์จะปล่อยออกซิเจนอิสระ ซึ่งจะออกซิไดซ์สีพาราทำให้เกิดสีย้อมติดกับผม

ไฮโดร เจนเปอร์ออกไซด์ ซึ่งเข้มข้นมากกว่า 6% จะทำให้ผมแห้งและทำลายเส้นผมอาจทำให้ระคายเคืองหนังศีรษะ แต่ถ้าความเข้มข้นน้อยกว่า 6 % จะอ่อนเกินไปไม่สามารถออกซิไดซ์สีพาราอย่างมีประสิทธิภาพ

การทดสอบการแพ้

การย้อมผมด้วยยาย้อมผมชนิดกึ่งถาวร และยาย้อมผมชนิดซึมเข้าในเส้นผม ต้องทำการทดสอบการแพ้ก่อนย้อม เนื่อง จากยาย้อมผมทำให้เกิดอาการแพ้ได้มากและการแพ้นี้ไม่สามารถทำนายล่วงหน้าได้ บางครั้งคนซึ่งใช้ผลิตภัณฑ์บางอย่างมานานเป็นปีแล้วจึงเกิดอาการแพ้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกาได้แนะนำวิธีการทดสอบการแพ้ที่ผิวหนังก่อนการย้อมดังนี้

1. ทดสอบการแพ้ทุกครั้งก่อนย้อมผม

2. แบ่งยาย้อมที่จะใช้ย้อม สำหรับนำมาทดสอบ

3. ยาย้อมผมที่จะใช้ทดสอบต้องผสม และเตรียมโดยวิธีเดียวกับที่จะใช้ย้อมจริง ตามคำแนะนำวิธีใช้

4. ใช้แปรงขนอูฐ หรือ สำลีพันปลายไม้ จุ่มยาย้อมที่เตรียมไว้ทาบริเวณผิวหนังหลังใบหู และบริเวณหนังศีรษะเป็นแถบกว้างไม่น้อยกว่า 1/4 นิ้ว และ ยาวไม่น้อยกว่าครึ่งนิ้ว

5. ทิ้งไว้โดยไม่ต้องปิด และไม่รบกวนบริเวณนั้นโดยการหวี ใส่หมวก/ใส่แว่นตา หรือสิ่งอื่นเป็นเวลานาน 24-48 ชั่วโมง หลังจากทา

6. ถ้ามีรอยสีแดง รอยไหม้ คัน ปริ (small blisters) หรือ พุพอง เกิดขึ้นที่บนบริเวณนั้น ภายใน 24 ชั่วโมง แสดงว่ามีอาการแพ้ไม่ควรย้อมผมด้วยยาย้อมผมนั้น

ยาย้อมผมและมะเร็ง

ในปี 1998 นักวิชาการซึ่งเป็นนักวิทยาศาตร์ของมหาลัย California, San Franeisco ได้ตั้งข้อสงสัยจากการทำการทดลองในคนที่ใช้ยาย้อมผมจำนวน 2,544 คน หลังจากการศึกษาแปรผลการศึกษากับสัตว์ทดลองทางด้านระบาดวิทยา สรุปได้ว่ามีความเชื่อมโยงกับในเรื่องของการเกิด non-Hodgkin’s lymphoma ( มะเร็งต่อมน้ำเหลือง) กับยาย้อมผม ซึ่งตีพิมพ์ในวาสาร Oraerican Journal of Public Health ในเดือนธันวาคม 1998 ซึ่งหน่วยงาน FDA ของสหรัฐอเมริกาต้องศึกษาเรื่องนี้ต่อไป

ความเป็นพิษ

จากการวิจัยพบว่าสีออกซิเดชั่นบางชนิด ทำให้สัตว์ทดลองเป็นมะเร็งที่เต้านม และที่มดลูก เป็นต้น แต่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ในคน นอกจากนี้บางชนิดทำให้เกิดการระคายเคือง และแพ้ได้อีกด้วย เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค จึงมีประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 13 ออกตามความในพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง 2517 เกี่ยวกับคำเตือนซึ่งผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายต้องระบุไว้บนฉลากของน้ำยาย้อมผม ดังนี้

คำเตือน

1. ระวังอย่าให้เข้าตา เพราะอาจทำให้ตาบอดได้

2. ต้องหยุดใช้ และล้างออกด้วยน้ำทันทีเมื่อมีอาการคันปวดแสบปวดร้อนบริเวณที่ใช้ และที่ถูกน้ำยาหรือมีเม็ดผื่นแดง

3. ห้ามเกาศีรษะอย่างแรงในระหว่างสระและย้อมผม เพราะอาจเกิดรอยถลอกเป็นแผลหรือเม็ดผื่นแดง ซึ่งอาจเกิดอันตรายได้

4. ห้ามใช้เมื่อหนังศีรษะมีรอยถลอก เป็นแผล หรือโรคผิวหนัง

ปัจจุบันได้มีผู้วิจัยเกี่ยวกับ เรื่อง ยาย้อมผม และได้ให้ข้อเสนอแนะสำหรับประชาชนในการเลือกซื้อยาย้อมผมว่า ควรหลีกเลี่ยง สีดำ และควรเลือกใช้ยาย้อมผมที่มี สารพาราฟีนิลีน ไดอะมีนส์ และไฮไดรเจนเปอร์ออกไซด์ไม่เกินร้อยละ 6 หรือ ควรเลือกใช้ชนิดที่เป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ นอกจากนี้ไม่ควรย้อมผมเกินเดือนละ 1 ครั้ง และควรทดสอบก่อนย้อมทุกครั้งด้วย เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของตัวผู้ย้อมเอง

0